วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

ความหมายของคำที่ควรทราบในพืชสมุนไพร

ความหมายของคำที่ควรทราบ
    ทุกส่วนหรือทั้ง 5 หรือทั้งต้น หมายถึง ต้น ราก ใบ ดอก ผลใบเพสลาด หมายถึง ใบไม้ที่จวนแก่

    หมากสง หมายถึง หมากที่แก่และสุก จะมีผิวของผลเป็นสีหมากสุก เนื้อในซึ่งเคยนิ่ม(ที่เรียกหมากดิบ) จะเปลี่ยนเป็นแข็ง

    เหล้า หมายถึง เหล้าโรง (28 ดีกรี)

    แอลกอฮอลล์ หมายถึง แอลกอฮอล์ชนิดสีขาวสำหรับผสมยา ห้ามใช้แอลกอฮอล์ชนิดจุดไฟ

    น้ำปูนใส หมายถึง น้ำยาที่ทำขึ้นโดยการนำปูนที่รับประทานกับหมาก มาละลายน้ำสะอาด ตั้งทิ้งไว้ แล้วรินน้ำใสมาใช้

    ต้มเอาน้ำดื่ม หมายถึง ต้มสมุนไพรด้วยการใส่น้ำพอประมาณ หรือสามเท่าของปริมาณที่ต้องการใช้ ต้มพอเดือดอ่อนๆ ให้เหลือ 1 ส่วนจาก 3 ส่วนข้างต้น รินเอาน้ำดื่มตามขนาด

    ชงน้ำดื่ม หมายถึง ใส่น้ำเดือดหรือน้ำร้อนจัด ลงบนสมุนไพรที่อยู่ในภาชนะปิดฝา ทิ้งไว้สักครู่ จึงใช้ดื่มแต่น้ำ

    ความแรงของยาชง 1 ใน 2 หมายถึง ใช้สมุนไพร 1 ส่วน เติมน้ำ 2 ส่วน


    ความแรงของยาเป็น % หมายถึงชั่งยามาหนัก 10 กรัม เติมน้ำยาให้ครบ 100 กรัม ซึ่งความแรงที่แท้จริงจะไม่ได้ 10% ของตัวยา

    คำว่า "ส่วน" เช่น ใช้ยาชนิดที่หนึ่ง 1 ส่วน ชนิดที่สอง 2 ส่วน หมายถึง ถ้าใช้ชนิดที่หนึ่ง 1 กำมือ ชนิดที่สองใช้ 2 กำมือ

    ยาลูกกลอน หมายถึง เอาสมุนไพรมาบดให้เป็นผงละเอียด เมื่อจะรับประทาน มักใช้น้ำผึ้งเป็นน้ำกระสาย จะคลุกให้แฉะๆ พอปั้นเป็นเม็ดกลมๆ รับประทานโดยใช้กลืน

    น้ำกระสายยา หมายถึง ส่วนที่ใช้ไปเสริมฤทธิ์การรักษาให้ดีขึ้น ยาตำรับเดียวกัน ถ้าใช้น้ำกระสายยาแตกต่างกันออกไป จะสามารถรักษาโรคได้ต่างกัน

วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2554

วิธีปรุงยาไทย

ยาต้ม
    การเตรียม ปริมาณที่ใช้โดยทั่วไปใช้ 1 กำมือ คือเอาต้นยามาขดมัดรอบกันเป็นท่อนกลม ยาวขนาด 1 ฝ่ามือ กว้างขนาดใช้มือกำได้โดยรอบพอดี ถ้าต้นยานั้นแข็งนำมาขดมัดไม่ได้ ให้หั่นเป็นท่อน ยาวขนาด 5-6 นิ้วฟุต กว้าง 1/2 นิ้วฟุต แล้วเอามารวมกันให้ได้ขนาด 1 กำมือ
    การต้ม เทน้ำลงไปพอให้น้ำท่วมยาเล็กน้อย (ประมาณ 3-4 แก้ว) ถ้าปริมาณยาที่ระบุไว้น้อยมาก เช่น ใช้เพียง 1 หยิบมือ ให้เทน้ำลงไป 1 แก้ว (250 ซี.ซี) ต้มให้เดือดนาน 10-30 นาที แล้วแต่ว่าต้องการเข้มข้นหรือเจือจาง รับประทานในขณะที่ยายังอุ่นๆ

ยาชง
    การเตรียม ปกติใช้ยมแห้งชง โดยหั่นต้นยาสดให้เป็นชิ้นเล็กๆ บางๆ ตากแดดให้แห้ง ถ้าต้องการให้ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว ให้เอาไปคั่วเสียก่อน จะมีกลิ่นหอม
   การชง ใช้สมุนไพร 1 ส่วน เติมน้ำเดือดลงไป 10 ส่วน ปิดฝาตั้งทิ้งไว้ 15-20 นาที

ยาดอง
    การเตรียม ปกติยาแห้งดอง โดยบดต้นสมุนไพรให้แหลกพอหยาบๆ ห่อด้วยผ้าขาวบาง ห่อหลวมๆ เผื่อยาพองตัวเวลาอมน้ำ
    การดอง เติมเหล้าให้ท่วมห่อผ้ายา ตั้งทิ้งไว้ 7 วัน

ยาปั้นลูกกลอน
    การเตรียม หั่นต้นสมุนไพรสดให้เป็นแว่นบางๆ ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผงในขณะที่ยังร้อน (เพราะแดด) อยู่ เพราะยาจะกรอบบดง่าย
    การปั้นยา ใช้ผงยา 2 ส่วน ผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อม 1 ส่วน ตั้งทิ้งไว้ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้ปั้นยาได้ง่าย ไม่ติดมือ ปั้นเป็นลูกกลมๆ เล็กๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ปั้นเสร็จผึ่งแดดจนแห้ง จากนั้นอีก 2 อาทิตย์ นำมาผึ่งแดดอีกที กันเชื้อราขึ้นยา
ตำคั้นเอาน้ำกินหรือดื่ม
โดยเอาต้นสมุนไพรสดๆ ตำให้ละเอียดจนเหลว ถ้าไม่มีน้ำให้เติมน้ำลงไปจนเหลว คั้นเอาน้ำยาที่ได้กิน ยาบางอย่าง เช่น กระทือ กระชาย ให้นำไปเผาให้สุกเสียก่อน จึงค่อยตำ

ยาพอก
    การเตรียมยา ใช้ต้นสมุนไพรสดตำให้แหลกที่สุด แต่อย่าตำจนยาเหลว ตำพอให้ยาเปียกๆ ก็พอ ถ้ายาแห้งให้เติมน้ำหรือเหล้าลงไป
    การพอก พอกแล้วต้องคอยหยอดน้ำให้ยาเปียกชื้นอยู่เสมอ เปลี่ยนยาวันละ 3 ครั้ง

วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

สารประกอบทางเคมีและเภสัชวิทยาของพืชสมุนไพร

สารประกอบทางเคมีในพืชสมุนไพร จำแนกได้เป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ


    Primary metabolite เป็นสารที่มีอยู่ในพืชชั้นสูงทั่วไป พบในพืชทุกชนิด เป็นผลิตผลที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) เช่น คาร์โบไฮเดรท ไขมัน โปรตีน เม็ดสี (pigment) และเกลือนินทรีย์ (inorganic salt) เป็นต้น
    Secondary metabolite เป็นสารประกอบที่มีลักษณะค่อนข้างพิเศษ พบต่างกันในพืชแต่ละชนิด คาดหมายว่าเกิดจากกระบวนการชีวะสังเคราะห์ (Biosynthesis) ที่มีเอนไซม์(enzyme) เข้าร่วม สารประกอบประเภทนี้มีอัลคาลอยด์ (Alkaloid) แอนทราควิโนน (Anthraquinone) น้ำมันหอมมันหอมระเหย (Essential oil) เป็นต้น

    ส่วนใหญ่สารพวก Secondary metabolite มีจะสรรพคุณทางยา แต่ก็มิได้แน่นอนตายตัวเสมอไป จากการวิจัยที่ผ่านมาพบว่าสารพวก Primary metabolite บางตัวก็ออกฤทธิ์ในการรักษาได้เช่นกัน และยังมีข้อสังเกตอีกว่าสารประกอบที่มีฤทธิ์ทางยาในพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง อาจมิใช่เพียงตัวเดียว อาจมีหลายตัวก็ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจที่ถ่องแท้ จึงจะสามารถสกัดสารที่มีฤทธิ์ทางยามาใช้ได้

    สารประกอบในพืชสมุนไพรมีมากมายหลายชนิด ในที่นี้จะกล่าวถึง บางตัวที่สำคัญเท่านั้น

    อัลคาลอยด์ (Alkaloid) อัลคาลยอด์ เป็นสารอินทรีย์ที่มีลักษณะเป็นด่าง และมีไนโตรเจน (nitrogen) เป็นส่วนประกอบ มีรสขม ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายได้ดีในตัวทำลายอินทรีย์ (organic solvent) เป็นสารที่พบมากในพืชสมุนไพร แต่ปริมาณสารจะต่างกันไปตามฤดูกาล สารประเภทนี้จะมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในหลายระบบ ตัวอย่างเช่น reserpine ในรากระย่อม สรรพคุณลดความดันเลือด สาร Quinine ในเปลือกต้นซิงโคนา (cinchona) มีสรรพคุณรักษาโรคมาเลเรีย และสาร morphine ในยางของผลฝิ่น มีสรรพคุณระงับอาการปวด เป็นต้น

    น้ำมันหอมระเหย (Volatile oil หรือ Essential oil) เป็นสารที่มีอยู่ในพืช มีลักษณะเป็นน้ำมันที่ได้จากการกลั่นตัวด้วยไอน้ำ (Steam distillation) มีกลิ่นรสเฉพาะตัว ระเหยได้ง่ายในอุณหภูมิปกติ เบากว่าน้ำ น้ำมันนี้เป็นส่วนผสมของสารเคมีหลายชนิด มักเป็นส่วนประกอบของพืชสมุนไพรที่เป็นเครื่องเทศ คุณสมบัติทางเภสัชวิทยา มักเป็นด้านขับลมและฆ่าเชื้อโรคและเชื้อรา (Flatulence และ antibacterial, antifungal) พบในพืชสมุนไพร เช่น กระเทียม ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด ไพร ขมิ้น เป็นต้น