วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

กฤษณา

กฤษณา
ชื่อพฤกษศาสตร์: Aquilaria crassna Pierre. ex Lec.
วงศ์ : THYMELAEACEAE
ชื่ออื่น : ไม้หอม, Eagle wood

    ไม้ต้นขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรง สูง 25-40 เมตร เปลือกเรียบสีเทา ตามยอดมีขนเป็นมันคล้ายเส้นไหมสีขาว ใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับ รูปรีหรือรูปไข่ ปลายเรียวแหลม โคนใบสอบมน ขอบใบเป็นคลื่น ผิวใบด้านบนสีเขียวเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่า ดอก ออกเป็นช่อสั้นๆ ที่ปลายยอดและง่ามใบ รูประฆัง สีเขียวอ่อน ผล รูปไข่ ปลายมนกว้าง ฐานคอด

    เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : ภาคหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของไทย ต่างประเทศพบที่ ลาว กัมพูชา และเวียตนาม ขึ้นในป่าดิบแล้ง ตามเชิงเขาและไหล่เขาที่ไม่ลาดชันมากนัก ที่ระดับความสูง 150-800 เมตร ออกดอกเดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แก้วมหาวัน

แก้วมหาวัน
ชื่อพฤกษศาสตร์: Michelia floribunda Fin. et Gagnep.
วงศ์ : MAGNOLIACEAE
ชื่ออื่น : จำปีน้อย

    ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 10-20 เมตร ลำต้นแตกกิ่งต่ำ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายแหลมยาว โคนมน ขอบเรียบ ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่าหรือมีคราบสีขาว ดอก สีขาวอมเหลืองคล้ายดอกจำปี ออกตามง่ามใบ เรียงตามกิ่งค่อนข้างดก กลิ่นหอม กลีบยาวรูปขอบขนาน ดอกตูมรูปกระสวย อยู่ภายในใบประดับใหญ่ที่มีขนสีเหลืองเป็นมันคล้ายเส้นไหมปกคลุม เกสรเพศเมียขนาดเล็กหลายอันเรียงบนแกนยาวกลางดอก ผล กลม แบน เรียงเป็นกลุ่มบนแกนยาว ไม่มีก้านผล

    เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ต่างประเทศ พบที่พม่า จีน (ยูนาน) ลาวและเวียตนาม ขึ้นตามสันเขาและไหล่เขาในป่าดิบเขาปะปนกับกลุ่มไม้ก่อ ที่ระดับความสูง 1,100 - 2,200 เมตร ออกดอกเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พืชถิ่นเดียวและพืชหากยาก มีเกณฑ์กำหนดสถานภาพที่แตกต่าง

พืชถิ่นเดียวและพืชหากยาก 

    พืชถิ่นเดียวหรือพืชเฉพาะถิ่น (endemic plants) คือ พืชชนิดที่พบขึ้นและแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติในบริเวณเขตภูมิศาสตร์เขตใดเขตหนึ่งของโลก และเป็นพืชที่มีเขตกระจายพันธุ์ทางภูมิศาสตร์ค่อข้างจำกัด ไม่กว้างขวางนัก มักจะพบพืชถิ่นเดียวบนพื้นที่ที่มีลักษณะจำกัดทางระบบนิเวศ เช่น บนเกาะ ยอดเขา หน้าผาของภูเขาหินปูน แอ่งพรุ ฯลฯ ถิ่นที่อยู่ดังกล่าวมีสภาพจำกัดของสิ่งแวดล้อมหรือมีสภาพดินฟ้าอากาศเฉพาะที่ (microclimate) พืชถิ่นเดียวของไทยหลายชนิดพบขึ้นเฉพาะบนภูเขาหินปูนหรือดินที่สลายมาจากหินปูน เช่น ก่วมเชียงดาว (Acer chiangkaoense ) กันภัยมหิดล ( Afgekia mahidolae ) กาญจณิการ์ ( Santisukia pagetii ) เป็นต้น ในปัจจุบันยังไม่มีการสำรวจและวิเคราะห์จำนวนชนิดพืชถิ่นเดียวของประเทศไทยอย่างครบถ้วน เนื่องจากยังขาดหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand) ฉบับที่สมบูรณ์ หนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย เท่าที่ได้ตีพิมพ์ออกมาถึงปัจจุบันเป็นร้อยละ ๓๐ ของจำนวนพรรณพืชที่มีท่อลำเลียงน้ำและอาหาร (vascular plants) ทั้งหมดประมาณ ๑๑,๐๐๐ ชนิด จากการสำรวจและวิเคราะห์พืชถิ่นเดียวของประเทศไทยเบื้องต้น พบว่ามีประมาณร้อยละ ๕ - ๗ ของพืชที่มีท่อลำเลียงน้ำและอาหารทั้งหมด ซึ่งนับว่าน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับพืชถิ่นเดียวของประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยมีความหลากหลายของชนิดพรรณพืช (plant diversity) อยู่ในลำดับสูง เนื่องจากประเทศตั้งอยู่ตรงบริเวณรอยต่อของเขตพฤกษภูมิศาสตร์ (floristic regions) ถึง ๓ ภูมิภาคด้วยกัน ได้แก่ ภูมิภาคอินเดีย-พม่า (Indo-Burmese) ภูมิภาคอินโดจีน (Indo-Chinese) และภูมิภาคมาเลเซีย (Malesian) แต่จำนวนชนิดพืชถิ่นเดียวของประเทศค่อนข้างต่ำ เนื่องจากพรรณพืชส่วนใหญ่กระจายพันธุ์มากจากประเทศต่างๆ ของทั้งสามภูมิภาค

    พืชหายาก (rare plants) คือ พืชชนิดที่มีประชากรขนาดเล็กซึ่งยังไม่อยู่ในสถานภาพใกล้จะสูญพันธุ์ (endangered) แต่มีความเสี่ยงที่จะเป็นพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์ได้ พืชหายากเป็นพืชที่เราทราบจำนวนประชากรที่มีอยู่ตามแหล่งต่างๆ และส่วนใหญ่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ พืชถิ่นเดียว ที่ปรากฏในหนังสือพรรณพฤกษชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นพืชหายาก ยกเว้นพืชถิ่นเดียวเพียงไม่กี่ชนิดที่มีจำนวนประชากรขึ้นแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติอยู่มากมาย เช่น ถั่วแปบช้าง ( Afgekia sericea ) กาญจณิการ์ ( Santisukia pagetii ) และ อรพิม (Bauhinia winitii ) เป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย แต่ไม่อยู่ในสถานภาพพืชหายาก เนื่องจากในถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติอันจำกัดนั้น มีจำนวนต้นหนาแน่นทั่วพื้นที่ พืชถิ่นเดียวบางชนิดเคยอยู่ในสถานภาพพืชหายากมาก่อน แต่ต่อมามีผู้นำไปขยายพันธุ์ปลูกเป็นการค้าทั่วไป จึงหมดสภาพพืชหายาก พืชที่สำรวจพบว่าหายากปัจจุบัน อาจมีแนวโน้มที่จะกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางขึ้นได้ในอนาคต หรือพืชที่มีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวางในปัจจุบัน อาจจะเป็นพืชหายากต่อไปในกาลข้างหน้า พืชชนิดหนึ่งอาจเป็นพืชหายากในท้องถิ่นหนึ่ง แต่อีกท้องถิ่นหนึ่งกลับมีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางก็เป็นได

สารประกอบในพืชสมุนไพร(ต่อ)

สารประกอบในพืชสมุนไพรมีมากมายหลายชนิด ในที่นี้จะกล่าวถึง บางตัวที่สำคัญเท่านั้น(ต่อ)

    ไกลโคไซด์ (Glycoside) เป็นสารประกอบที่พบมากในพืชสมุนไพร มีโครงสร้างแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นน้ำตาล กับส่วนที่ไม่ได้เป็นน้ำตาล ที่เรียกชื่อว่า aglycone (หรือ genin) การที่มีน้ำตาล ทำให้สารนี้ละลายน้ำได้ดี ส่วน aglycone เป็นสารอินทรีย์ ซึ่งมีสูตรโครงสร้างและเภสัชวิทยาแตกต่างกันไป และส่วนนี้เองที่ทำให้คุณสมบัติทางเภสัชวิทยาของ glycoside แตกต่างกันไป และทำให้แบ่ง glycoside ได้เป็นหลายประเภท เช่น
- Cardiac glycoside มีฤทธิ์ต่อระบบกล้ามเนื้อหัวใจ และระบบการไหลเวียนของโลหิต เช่น สารในใบยี่โถ

- Anthraquinone glycoside เป็นยาระบาย (laxative) ยาฆ่าเชื้อ (antibiotic) และสีย้อม สารนี้มีในใบชุมเห็ดเทศ เมล็ดชุมเห็ดไทย ใบขี้เหล็ก ใบมะขามแขก เป็นต้น

- Saponin glycoside เมื่อกับน้ำจะได้ฟองคล้ายสบู่ มักใช้เป็นสารตั้งต้นการผลิตยา ประเภทสเตอรอยด์ เช่น ลูกประคำดีควาย

- Flavonoid glycoside เป็นสีที่พบในดอกและผลของพืช ทำเป็นสีย้อมหรือสีแต่งอาหาร บางชนิดใช้เป็นยา เช่น สารสีในดอกอัญชัน

    แทนนิน (Tannin) เป็นสารที่พบในพืชทั่วไป มีรสฝาด มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน และสามารถตกตะกอนโปรตีนได้ มีฤทธิ์ฝาดสมานและฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย พบในใบฝรั่ง เนื้อของกล้วยน้ำว้าดิบ
ยังมีสารที่พบในพืชทั่วไป เช่น คาร์โบไฮเดรท ไขมัน กรดอินทรีย์ สเตอรอยด์ สารเรซิน สารกัม (Gum) วิตามิน จะไม่กล่าวรายละเอียดในที่นี้ แต่บางอย่างก็มีฤทธิ์ทางยา เช่น น้ำมันละหุ่งใช้เป็นยาระบาย เป็นต้น

    ดังกล่าวข้างต้นแล้วนั้น พืชสมุนไพร ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นยารักษาโรคมานาน ประกอบด้วยสารประกอบทางเคมีหลายชนิด แต่ละส่วนของพืชสมุนไพรมีสารประกอบที่แตกต่างกันออกไป สารเหล่านั้นเป็นตัวกำหนดสรรพคุณของพืชสมุนไพร ชนิดและปริมาณของสารจะแปรตามชนิดของพันธุ์สมุนไพร สภาพแวดล้อมที่ปลูกและช่วงเวลาที่เก็บพืชสมุนไพร

    นักวิทยาศาสตร์ได้นำความรู้ และวิธีการทางเคมีมาค้นคว้าวิจัย สารเคมีที่มีฤทธิ์ในพืชสมุนไพร ทำให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้าง ลักษณะวิธี การสกัด การจำแนกและการตรวจสอบสารเหล่านั้น นอกจากนี้ยังใช้ขบวนการทางวิทยาศาสตร์มาค้นคว้าสมุนไพร ด้านเภสัชวิทยา พิษวิทยา การพัฒนารูปแบบยา การทดสอบทางเภสัชจลนศาสตร์ และการวิจัยทางคลีนิคอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ได้ยาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาโรค