วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กุหลาบแดง

กุหลาบแดง
ชื่อพฤกษศาสตร์: Rhododendron simsii Planch.
วงศ์ : ERICACEAE

    ไม้พุ่ม สูง 1-3 เมตร ลำต้นและกิ่ง มีขนสีน้ำตาลแดง ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง รูปรี รูปไข่ รูปไข่แกมขอบขนาน รูปไข่กลับ หรือรูปใบหอกกลับ ปลายแหลมหรือมน โคนสอบแคบ มีขนสีน้ำตาล ดอก สีแดงอมส้ม มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงขนาดเล็กโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีขนสีขาวหรือแดง กลีบดอก 5 กลีบ เชื่อมกันคล้ายรูปแตร ภายในมีจุดประสีแดงเข้ม ปลายแยกเป็นแฉกค่อนข้างกลม ผล รูปไข่ มีขนสีน้ำตาลแดง เมื่อแก่แตกได้ เมล็ด จำนวนมาก ขนาดเล็ก มีปีกบาน

    เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ต่างประเทศพบที่ลาวและเวียตนาม ชอบขึ้นเป็นกลุ่มๆ บนภูเขาหินทราย ใกล้ลำธารชายป่าดิบเขา ที่ระดับความสูง 1,000 - 1,600 เมตร ออกดอกเดือนมกราคม - เมษายน

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กล้วยน้อย

กล้วยน้อย
ชื่อพฤกษศาสตร์: Xylopia vielana Pierre
วงศ์ : ANNONACEAE
ชื่ออื่น : ตาแหลว สะทาง

    ไม้ต้น สูง 10-20 เมตร เรือนยอดรูปกรวยคว่ำ กิ่งอ่อนและยอดอ่อน มีขนสั้นสีน้ำตาลอมแดง ใบเดี่ยว เรียงสลับสองข้างของกิ่งในระนาบเดียวกัน แผ่นใบรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายมนถึงเรียวแหลม โคนใบมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย ผิวใบมีขนนุ่มสั้นๆ ทั้งสองด้าน ดอก ออกเดี่ยวๆ หรือออกเป็นกระจุก 2-3 ดอก ตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ผิวด้านนอกของกลีบมีขนสีเหลืองปกคลุมหนาแน่น ผล ออกเป็นกลุ่ม รูปทรงกระบอก ผลแก่สีเหลืองอมส้ม มีเมล็ด 2-3 เมล็ด เมล็ดมีเยื่อหุ้มสีแดง

    เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของไทย ต่างประเทศพบที่ลาวและกัมพูชา ขึ้นในป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูง 50-600 เมตร ออกดอกเดือนมีนาคม - พฤษภาคม ผลแก่เดือนพฤษภาคม - กันยายน

กำลังช้างสาร

กำลังช้างสาร
ชื่อพฤกษศาสตร์: Pithecellobium tenue Craib
วงศ์ : LEGUMINOSAE - MIMOSOIDEAE
ชื่ออื่น : ฮ่อสะพายควาย

    ไม้ต้นขนาดเล็กกึ่งไม้พุ่ม สูง 3-5 เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนามทั่วไป ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียนกลับ หูใบเป็นหนามแหลม ก้านและแกนช่อใบมีครีบแคบๆ มีต่อมระหว่างรอยต่อของแขนงช่อใบ ใบย่อย 1-3 คู่ ออกตรงกันข้าม รูปไข่กลับแกมรูปรี ปลายใบแหลมยาว โคนใบเบี้ยว ไม่มีก้านใบย่อย ดอกสีขาว ออกเป็นช่อโปร่งแตกแขนง ผลเป็นฝักแห้ง สีน้ำตาล ยาวถึง 20 เซนติเมตร คอดเข้าระหว่างรอยต่อของเมล็ดที่นูนออกเป็นเปลาะๆ

    เขตกระจายพันธุ์และถิ่นกำเนิด : พบในเขตจังหวัดตาก นครสวรรค์ และ กาญจนบุรี ขึ้นตามชายป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ระดับความสูง 200 - 900 เมตร ออกดอกและผลเดือน มีนาคม - มิถุนายน