วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กระเช้านกเล็ก

กระเช้านกเล็ก
ชื่อพฤกษศาสตร์: Aristolochia kerrii Craib
วงศ์ : ARISTOLOCHIACEAE

    ไม้เถาขนาดเล็ก ลำต้น เกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่แกมรูปหอกค่อนข้างเป็นสามเหลี่ยม ปลายใบแหลม ฐานใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ แผ่นใบด้านล่างมีขนนุ่ม เส้นใบ 5 เส้น ออกจากฐานใบ เส้นใบย่อยเป็นร่างแหชัดเจน ดอก ออกเป็นกลุ่มตามซอกใบ 1-2 ดอก โคนเป็นกระเปาะ ปลายแผ่แบนและงอออกเป็นจงอย ด้านนอกสีม่วงเข้ม ด้านในสีครีม ผล รูปไข่ เมื่อแก่แตกเป็นรูปคล้ายกระเช้า เมล็ดขนาดเล็ก รูปไข่กลับ แบน ไม่มีปีก

    เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ตอนบนของประเทศไทย ขึ้นตามป่าละเมาะและชายป่าดิบที่ค่อนข้างชุ่มชื้น ที่ระดับความสูง 500-1,370 เมตร ออกดอกเดือนมิถุนายน - กรกฏาคม ติดผลเดือน สิงหาคม - กันยายน

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554

กาญจณิการ์

กาญจณิการ์
ชื่อพฤกษศาสตร์: Santisukia pagetii (Craib) Brummitt
วงศ์ : BIGNONIACEAE
ชื่ออื่น : แคขาว ลั่นทมเขา

    ไม้ต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูง 10-20 เมตร ลำต้นแตกกิ่งต่ำ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมแผ่กว้าง แน่นทึบ ใบ ประกอบแบบขนนกชั้นดียวปลายคี่ เรียงเป็นวงรอบกิ่ง ใบย่อย 5-10 คู่ รูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายแหลม โคนมน เบี้ยวเล็กน้อย ขอบใบส่วนบนมักจะมีรอยจักตื้นๆ ดอก ใหญ่ จำนวนมาก ออกเป็นช่อยาวแตกแขนง แขนงช่อดอกแตกเป็นวงรอบแกนช่อ กลีบรองกลีบดอกติดกันเป็นหลอดสั้นๆ ส่วนบนแยกเป็น 5 แฉกสั้นๆ ภายนอกมีตุ่มทั่วไป กลีบดอกติดกันคล้ายรูปแตร ปลายผายออกเป็น 5 กลีบ สีขาว หรือ สีขาวปนม่วงอ่อน ปากหลอดสีเหลืองอ่อน ผลเป็นฝักแห้งรูปทรงกระบอก ปลายและโคนรี ผนังมีตุ่มกระจัดกระจายทั่วไป เมล็ด จำนวนมาก กลมแบน มีปีกบางโปร่งทางด้านข้างทั้งสองด้าน

    เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : พบเฉพาะภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไทย ตั้งแต่จังหวัดอุทัยธานีลงมาถึงเพชรบุรี ขึ้นทั่วไปในป่าผลัดใบ ตามซอกหินของภูเขาหินปูนที่แห้งแล้ง ที่ระดับความสูง 50-200 เมตร ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554

กุหลาบพันปี
ชื่อพฤกษศาสตร์: Rhododendron arboreum Smith ssp. delavayi (Franchet) Chamberlain
วงศ์ : ERICACEAE
ชื่ออื่น : คำแดง

    ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็กกึ่งพุ่ม สูง 3-10 เมตร ลำต้นและกิ่งคดงอ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง รูปใบหอกกลับ หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก ปลายแหลม โคนสอบหรือตัด เนื้อใบหนา หลังใบมีเกล็ดและขนปกคลุม ดอกสีเหลืองแดงเลือดนก ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5-6 แฉก มีขน กลีบดอกติดกันคล้ายรูประฆัง ปลายแยกเป็นแฉกกลม มีขน ผล รูปทรงกระบอก เมื่อแก่แตกได้

    เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : พบเฉพาะในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ต่างประเทศพบที่เนปาล ภูฏาน พม่าและจีนภาคใต้ (ยูนาน) ขึ้นบนที่ชุ่มชื้นตามชายป่าติดเขา ที่ระดับความสูง 2,100-2,500 เมตร ออกดอกเดือนมกราคม - พฤษภาคม

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

กะโมกเขา

กะโมกเขา
ชื่อพฤกษศาสตร์: Sageraea elliptica (A.DC.) Hook.f. & Thomson
วงศ์ : ANNONACEAE
ชื่ออื่น : ลาโมก

    ไม้ต้น สูง 15-20 เมตร เรือนยอดรูปกรวยคว่ำ เปลอืกต้นสีเทาอ่อน ใบเดี่ยว แผ่นใบรูปขอบขนาน ปลายใบมนถึงเรียวแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ หรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ดอก เล็ก สีเหลืองอมเขียว ออกเดี่ยว หรือเป็นกระจุก 2-6 ดอก ตามกิ่งหรือลำต้น ผล ออกเป็นกลุ่มๆ ละ 6-7 ผล รูปกลมรี ก้านผลสั้น

    เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงใต้ของไทย ต่างประเทศพบที่ กัมพูชา ขึ้นในป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูง 50-600 เมตร ออกดอกเดือนมกราคม - พฤษภาคม

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กุหลาบขาวเชียงดา

กุหลาบขาวเชียงดาว
ชื่อพฤกษศาสตร์: Rhododendron ludwigianum Hoss.
วงศ์ : ERICACEAE
ชื่ออื่น : คำขาวเชียงดาว กุหลาบขาว

    ไม้พุ่ม สูง 1-2 เมตร ลำต้นและกิ่งคดงอ แตกกิ่งระเกะระกะจากโคต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง รูปรีแกมรูปไข่กลับ ปลายแหลม โคนมน ขอบเรียบ ผิวใบเข้มเป็นมัน ดอก ออกเป็นช่อสั้นๆ ที่ปลายกิ่ง กลีบดอกติดกันคล้ายรูประฆัง สีขาวนวล ปลายแยกเป็น 5 กลีบ โคนกลีบด้านในมีแต้มสีเหลือง ผล แห้ง รูปกระสวยปลายมน เมื่อแก่แตกได้ เมล็ดแบน ขนาดเล็กมาก มีปีกบางใส

    เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : พบเฉพาะที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ บนที่โล่ง ตามซอกหินของภูเขาหินปูน ที่ระดับความสูง 1,800-2,200 เมตร ออกดอกเดือนมีนาคม - พฤษภาคม

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กุหลาบขาว

กุหลาบขาว
ชื่อพฤกษศาสตร์: Rhododendron lyi Levl.
วงศ์ : ERICACEAE
ชื่ออื่น : ดอกสามสี ไม

    ไม้พุ่ม สูง 2-3 เมตร กิ่งอ่อนมีขนและเกล็ดสีน้ำตาล ใบเดี่ยง เรียงเวียนสลับเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี ปลายแหลม มีติ่ง โคนสอบ ด้านหลังมีเกล็ดสีน้ำตาล ดอก สีขาวอมชมพู ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงขนาดเล็ก โคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ เชื่อมกันคล้ายรูปแตร ปลายแยกเป็นกลีบกลม ขอบเป็นคลื่นด้านนอกมีเกล็ดปกคลุมทั่วไป ด้านในมีจุดประสีเหลือง ผล รูปรี ผิวขรุขระ เมื่อแก่แตกได้ เมล็ด จำนวนมาก ขนาดเล็ก มีปีกบาง

    เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ต่างประเทศพบที่ลาวและเวียตนาม ขอบขึ้นตามภูเขาหินทราย ในที่โล่งแจ้งตามโขดหินหรือซอกหิน ที่ระดับความสูง 1,000-1,600 เมตร มักขึ้นรวมเป็นกลุ่มใหญ่ ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กุหลาบแดง

กุหลาบแดง
ชื่อพฤกษศาสตร์: Rhododendron simsii Planch.
วงศ์ : ERICACEAE

    ไม้พุ่ม สูง 1-3 เมตร ลำต้นและกิ่ง มีขนสีน้ำตาลแดง ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง รูปรี รูปไข่ รูปไข่แกมขอบขนาน รูปไข่กลับ หรือรูปใบหอกกลับ ปลายแหลมหรือมน โคนสอบแคบ มีขนสีน้ำตาล ดอก สีแดงอมส้ม มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงขนาดเล็กโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีขนสีขาวหรือแดง กลีบดอก 5 กลีบ เชื่อมกันคล้ายรูปแตร ภายในมีจุดประสีแดงเข้ม ปลายแยกเป็นแฉกค่อนข้างกลม ผล รูปไข่ มีขนสีน้ำตาลแดง เมื่อแก่แตกได้ เมล็ด จำนวนมาก ขนาดเล็ก มีปีกบาน

    เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ต่างประเทศพบที่ลาวและเวียตนาม ชอบขึ้นเป็นกลุ่มๆ บนภูเขาหินทราย ใกล้ลำธารชายป่าดิบเขา ที่ระดับความสูง 1,000 - 1,600 เมตร ออกดอกเดือนมกราคม - เมษายน

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กล้วยน้อย

กล้วยน้อย
ชื่อพฤกษศาสตร์: Xylopia vielana Pierre
วงศ์ : ANNONACEAE
ชื่ออื่น : ตาแหลว สะทาง

    ไม้ต้น สูง 10-20 เมตร เรือนยอดรูปกรวยคว่ำ กิ่งอ่อนและยอดอ่อน มีขนสั้นสีน้ำตาลอมแดง ใบเดี่ยว เรียงสลับสองข้างของกิ่งในระนาบเดียวกัน แผ่นใบรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายมนถึงเรียวแหลม โคนใบมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย ผิวใบมีขนนุ่มสั้นๆ ทั้งสองด้าน ดอก ออกเดี่ยวๆ หรือออกเป็นกระจุก 2-3 ดอก ตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ผิวด้านนอกของกลีบมีขนสีเหลืองปกคลุมหนาแน่น ผล ออกเป็นกลุ่ม รูปทรงกระบอก ผลแก่สีเหลืองอมส้ม มีเมล็ด 2-3 เมล็ด เมล็ดมีเยื่อหุ้มสีแดง

    เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของไทย ต่างประเทศพบที่ลาวและกัมพูชา ขึ้นในป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูง 50-600 เมตร ออกดอกเดือนมีนาคม - พฤษภาคม ผลแก่เดือนพฤษภาคม - กันยายน

กำลังช้างสาร

กำลังช้างสาร
ชื่อพฤกษศาสตร์: Pithecellobium tenue Craib
วงศ์ : LEGUMINOSAE - MIMOSOIDEAE
ชื่ออื่น : ฮ่อสะพายควาย

    ไม้ต้นขนาดเล็กกึ่งไม้พุ่ม สูง 3-5 เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนามทั่วไป ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียนกลับ หูใบเป็นหนามแหลม ก้านและแกนช่อใบมีครีบแคบๆ มีต่อมระหว่างรอยต่อของแขนงช่อใบ ใบย่อย 1-3 คู่ ออกตรงกันข้าม รูปไข่กลับแกมรูปรี ปลายใบแหลมยาว โคนใบเบี้ยว ไม่มีก้านใบย่อย ดอกสีขาว ออกเป็นช่อโปร่งแตกแขนง ผลเป็นฝักแห้ง สีน้ำตาล ยาวถึง 20 เซนติเมตร คอดเข้าระหว่างรอยต่อของเมล็ดที่นูนออกเป็นเปลาะๆ

    เขตกระจายพันธุ์และถิ่นกำเนิด : พบในเขตจังหวัดตาก นครสวรรค์ และ กาญจนบุรี ขึ้นตามชายป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ระดับความสูง 200 - 900 เมตร ออกดอกและผลเดือน มีนาคม - มิถุนายน

วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

กฤษณา

กฤษณา
ชื่อพฤกษศาสตร์: Aquilaria crassna Pierre. ex Lec.
วงศ์ : THYMELAEACEAE
ชื่ออื่น : ไม้หอม, Eagle wood

    ไม้ต้นขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรง สูง 25-40 เมตร เปลือกเรียบสีเทา ตามยอดมีขนเป็นมันคล้ายเส้นไหมสีขาว ใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับ รูปรีหรือรูปไข่ ปลายเรียวแหลม โคนใบสอบมน ขอบใบเป็นคลื่น ผิวใบด้านบนสีเขียวเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่า ดอก ออกเป็นช่อสั้นๆ ที่ปลายยอดและง่ามใบ รูประฆัง สีเขียวอ่อน ผล รูปไข่ ปลายมนกว้าง ฐานคอด

    เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : ภาคหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของไทย ต่างประเทศพบที่ ลาว กัมพูชา และเวียตนาม ขึ้นในป่าดิบแล้ง ตามเชิงเขาและไหล่เขาที่ไม่ลาดชันมากนัก ที่ระดับความสูง 150-800 เมตร ออกดอกเดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แก้วมหาวัน

แก้วมหาวัน
ชื่อพฤกษศาสตร์: Michelia floribunda Fin. et Gagnep.
วงศ์ : MAGNOLIACEAE
ชื่ออื่น : จำปีน้อย

    ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 10-20 เมตร ลำต้นแตกกิ่งต่ำ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายแหลมยาว โคนมน ขอบเรียบ ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่าหรือมีคราบสีขาว ดอก สีขาวอมเหลืองคล้ายดอกจำปี ออกตามง่ามใบ เรียงตามกิ่งค่อนข้างดก กลิ่นหอม กลีบยาวรูปขอบขนาน ดอกตูมรูปกระสวย อยู่ภายในใบประดับใหญ่ที่มีขนสีเหลืองเป็นมันคล้ายเส้นไหมปกคลุม เกสรเพศเมียขนาดเล็กหลายอันเรียงบนแกนยาวกลางดอก ผล กลม แบน เรียงเป็นกลุ่มบนแกนยาว ไม่มีก้านผล

    เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ต่างประเทศ พบที่พม่า จีน (ยูนาน) ลาวและเวียตนาม ขึ้นตามสันเขาและไหล่เขาในป่าดิบเขาปะปนกับกลุ่มไม้ก่อ ที่ระดับความสูง 1,100 - 2,200 เมตร ออกดอกเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พืชถิ่นเดียวและพืชหากยาก มีเกณฑ์กำหนดสถานภาพที่แตกต่าง

พืชถิ่นเดียวและพืชหากยาก 

    พืชถิ่นเดียวหรือพืชเฉพาะถิ่น (endemic plants) คือ พืชชนิดที่พบขึ้นและแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติในบริเวณเขตภูมิศาสตร์เขตใดเขตหนึ่งของโลก และเป็นพืชที่มีเขตกระจายพันธุ์ทางภูมิศาสตร์ค่อข้างจำกัด ไม่กว้างขวางนัก มักจะพบพืชถิ่นเดียวบนพื้นที่ที่มีลักษณะจำกัดทางระบบนิเวศ เช่น บนเกาะ ยอดเขา หน้าผาของภูเขาหินปูน แอ่งพรุ ฯลฯ ถิ่นที่อยู่ดังกล่าวมีสภาพจำกัดของสิ่งแวดล้อมหรือมีสภาพดินฟ้าอากาศเฉพาะที่ (microclimate) พืชถิ่นเดียวของไทยหลายชนิดพบขึ้นเฉพาะบนภูเขาหินปูนหรือดินที่สลายมาจากหินปูน เช่น ก่วมเชียงดาว (Acer chiangkaoense ) กันภัยมหิดล ( Afgekia mahidolae ) กาญจณิการ์ ( Santisukia pagetii ) เป็นต้น ในปัจจุบันยังไม่มีการสำรวจและวิเคราะห์จำนวนชนิดพืชถิ่นเดียวของประเทศไทยอย่างครบถ้วน เนื่องจากยังขาดหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand) ฉบับที่สมบูรณ์ หนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย เท่าที่ได้ตีพิมพ์ออกมาถึงปัจจุบันเป็นร้อยละ ๓๐ ของจำนวนพรรณพืชที่มีท่อลำเลียงน้ำและอาหาร (vascular plants) ทั้งหมดประมาณ ๑๑,๐๐๐ ชนิด จากการสำรวจและวิเคราะห์พืชถิ่นเดียวของประเทศไทยเบื้องต้น พบว่ามีประมาณร้อยละ ๕ - ๗ ของพืชที่มีท่อลำเลียงน้ำและอาหารทั้งหมด ซึ่งนับว่าน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับพืชถิ่นเดียวของประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยมีความหลากหลายของชนิดพรรณพืช (plant diversity) อยู่ในลำดับสูง เนื่องจากประเทศตั้งอยู่ตรงบริเวณรอยต่อของเขตพฤกษภูมิศาสตร์ (floristic regions) ถึง ๓ ภูมิภาคด้วยกัน ได้แก่ ภูมิภาคอินเดีย-พม่า (Indo-Burmese) ภูมิภาคอินโดจีน (Indo-Chinese) และภูมิภาคมาเลเซีย (Malesian) แต่จำนวนชนิดพืชถิ่นเดียวของประเทศค่อนข้างต่ำ เนื่องจากพรรณพืชส่วนใหญ่กระจายพันธุ์มากจากประเทศต่างๆ ของทั้งสามภูมิภาค

    พืชหายาก (rare plants) คือ พืชชนิดที่มีประชากรขนาดเล็กซึ่งยังไม่อยู่ในสถานภาพใกล้จะสูญพันธุ์ (endangered) แต่มีความเสี่ยงที่จะเป็นพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์ได้ พืชหายากเป็นพืชที่เราทราบจำนวนประชากรที่มีอยู่ตามแหล่งต่างๆ และส่วนใหญ่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ พืชถิ่นเดียว ที่ปรากฏในหนังสือพรรณพฤกษชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นพืชหายาก ยกเว้นพืชถิ่นเดียวเพียงไม่กี่ชนิดที่มีจำนวนประชากรขึ้นแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติอยู่มากมาย เช่น ถั่วแปบช้าง ( Afgekia sericea ) กาญจณิการ์ ( Santisukia pagetii ) และ อรพิม (Bauhinia winitii ) เป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย แต่ไม่อยู่ในสถานภาพพืชหายาก เนื่องจากในถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติอันจำกัดนั้น มีจำนวนต้นหนาแน่นทั่วพื้นที่ พืชถิ่นเดียวบางชนิดเคยอยู่ในสถานภาพพืชหายากมาก่อน แต่ต่อมามีผู้นำไปขยายพันธุ์ปลูกเป็นการค้าทั่วไป จึงหมดสภาพพืชหายาก พืชที่สำรวจพบว่าหายากปัจจุบัน อาจมีแนวโน้มที่จะกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางขึ้นได้ในอนาคต หรือพืชที่มีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวางในปัจจุบัน อาจจะเป็นพืชหายากต่อไปในกาลข้างหน้า พืชชนิดหนึ่งอาจเป็นพืชหายากในท้องถิ่นหนึ่ง แต่อีกท้องถิ่นหนึ่งกลับมีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางก็เป็นได

สารประกอบในพืชสมุนไพร(ต่อ)

สารประกอบในพืชสมุนไพรมีมากมายหลายชนิด ในที่นี้จะกล่าวถึง บางตัวที่สำคัญเท่านั้น(ต่อ)

    ไกลโคไซด์ (Glycoside) เป็นสารประกอบที่พบมากในพืชสมุนไพร มีโครงสร้างแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นน้ำตาล กับส่วนที่ไม่ได้เป็นน้ำตาล ที่เรียกชื่อว่า aglycone (หรือ genin) การที่มีน้ำตาล ทำให้สารนี้ละลายน้ำได้ดี ส่วน aglycone เป็นสารอินทรีย์ ซึ่งมีสูตรโครงสร้างและเภสัชวิทยาแตกต่างกันไป และส่วนนี้เองที่ทำให้คุณสมบัติทางเภสัชวิทยาของ glycoside แตกต่างกันไป และทำให้แบ่ง glycoside ได้เป็นหลายประเภท เช่น
- Cardiac glycoside มีฤทธิ์ต่อระบบกล้ามเนื้อหัวใจ และระบบการไหลเวียนของโลหิต เช่น สารในใบยี่โถ

- Anthraquinone glycoside เป็นยาระบาย (laxative) ยาฆ่าเชื้อ (antibiotic) และสีย้อม สารนี้มีในใบชุมเห็ดเทศ เมล็ดชุมเห็ดไทย ใบขี้เหล็ก ใบมะขามแขก เป็นต้น

- Saponin glycoside เมื่อกับน้ำจะได้ฟองคล้ายสบู่ มักใช้เป็นสารตั้งต้นการผลิตยา ประเภทสเตอรอยด์ เช่น ลูกประคำดีควาย

- Flavonoid glycoside เป็นสีที่พบในดอกและผลของพืช ทำเป็นสีย้อมหรือสีแต่งอาหาร บางชนิดใช้เป็นยา เช่น สารสีในดอกอัญชัน

    แทนนิน (Tannin) เป็นสารที่พบในพืชทั่วไป มีรสฝาด มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน และสามารถตกตะกอนโปรตีนได้ มีฤทธิ์ฝาดสมานและฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย พบในใบฝรั่ง เนื้อของกล้วยน้ำว้าดิบ
ยังมีสารที่พบในพืชทั่วไป เช่น คาร์โบไฮเดรท ไขมัน กรดอินทรีย์ สเตอรอยด์ สารเรซิน สารกัม (Gum) วิตามิน จะไม่กล่าวรายละเอียดในที่นี้ แต่บางอย่างก็มีฤทธิ์ทางยา เช่น น้ำมันละหุ่งใช้เป็นยาระบาย เป็นต้น

    ดังกล่าวข้างต้นแล้วนั้น พืชสมุนไพร ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นยารักษาโรคมานาน ประกอบด้วยสารประกอบทางเคมีหลายชนิด แต่ละส่วนของพืชสมุนไพรมีสารประกอบที่แตกต่างกันออกไป สารเหล่านั้นเป็นตัวกำหนดสรรพคุณของพืชสมุนไพร ชนิดและปริมาณของสารจะแปรตามชนิดของพันธุ์สมุนไพร สภาพแวดล้อมที่ปลูกและช่วงเวลาที่เก็บพืชสมุนไพร

    นักวิทยาศาสตร์ได้นำความรู้ และวิธีการทางเคมีมาค้นคว้าวิจัย สารเคมีที่มีฤทธิ์ในพืชสมุนไพร ทำให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้าง ลักษณะวิธี การสกัด การจำแนกและการตรวจสอบสารเหล่านั้น นอกจากนี้ยังใช้ขบวนการทางวิทยาศาสตร์มาค้นคว้าสมุนไพร ด้านเภสัชวิทยา พิษวิทยา การพัฒนารูปแบบยา การทดสอบทางเภสัชจลนศาสตร์ และการวิจัยทางคลีนิคอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ได้ยาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาโรค

วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

ความหมายของคำที่ควรทราบในพืชสมุนไพร

ความหมายของคำที่ควรทราบ
    ทุกส่วนหรือทั้ง 5 หรือทั้งต้น หมายถึง ต้น ราก ใบ ดอก ผลใบเพสลาด หมายถึง ใบไม้ที่จวนแก่

    หมากสง หมายถึง หมากที่แก่และสุก จะมีผิวของผลเป็นสีหมากสุก เนื้อในซึ่งเคยนิ่ม(ที่เรียกหมากดิบ) จะเปลี่ยนเป็นแข็ง

    เหล้า หมายถึง เหล้าโรง (28 ดีกรี)

    แอลกอฮอลล์ หมายถึง แอลกอฮอล์ชนิดสีขาวสำหรับผสมยา ห้ามใช้แอลกอฮอล์ชนิดจุดไฟ

    น้ำปูนใส หมายถึง น้ำยาที่ทำขึ้นโดยการนำปูนที่รับประทานกับหมาก มาละลายน้ำสะอาด ตั้งทิ้งไว้ แล้วรินน้ำใสมาใช้

    ต้มเอาน้ำดื่ม หมายถึง ต้มสมุนไพรด้วยการใส่น้ำพอประมาณ หรือสามเท่าของปริมาณที่ต้องการใช้ ต้มพอเดือดอ่อนๆ ให้เหลือ 1 ส่วนจาก 3 ส่วนข้างต้น รินเอาน้ำดื่มตามขนาด

    ชงน้ำดื่ม หมายถึง ใส่น้ำเดือดหรือน้ำร้อนจัด ลงบนสมุนไพรที่อยู่ในภาชนะปิดฝา ทิ้งไว้สักครู่ จึงใช้ดื่มแต่น้ำ

    ความแรงของยาชง 1 ใน 2 หมายถึง ใช้สมุนไพร 1 ส่วน เติมน้ำ 2 ส่วน


    ความแรงของยาเป็น % หมายถึงชั่งยามาหนัก 10 กรัม เติมน้ำยาให้ครบ 100 กรัม ซึ่งความแรงที่แท้จริงจะไม่ได้ 10% ของตัวยา

    คำว่า "ส่วน" เช่น ใช้ยาชนิดที่หนึ่ง 1 ส่วน ชนิดที่สอง 2 ส่วน หมายถึง ถ้าใช้ชนิดที่หนึ่ง 1 กำมือ ชนิดที่สองใช้ 2 กำมือ

    ยาลูกกลอน หมายถึง เอาสมุนไพรมาบดให้เป็นผงละเอียด เมื่อจะรับประทาน มักใช้น้ำผึ้งเป็นน้ำกระสาย จะคลุกให้แฉะๆ พอปั้นเป็นเม็ดกลมๆ รับประทานโดยใช้กลืน

    น้ำกระสายยา หมายถึง ส่วนที่ใช้ไปเสริมฤทธิ์การรักษาให้ดีขึ้น ยาตำรับเดียวกัน ถ้าใช้น้ำกระสายยาแตกต่างกันออกไป จะสามารถรักษาโรคได้ต่างกัน

วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2554

วิธีปรุงยาไทย

ยาต้ม
    การเตรียม ปริมาณที่ใช้โดยทั่วไปใช้ 1 กำมือ คือเอาต้นยามาขดมัดรอบกันเป็นท่อนกลม ยาวขนาด 1 ฝ่ามือ กว้างขนาดใช้มือกำได้โดยรอบพอดี ถ้าต้นยานั้นแข็งนำมาขดมัดไม่ได้ ให้หั่นเป็นท่อน ยาวขนาด 5-6 นิ้วฟุต กว้าง 1/2 นิ้วฟุต แล้วเอามารวมกันให้ได้ขนาด 1 กำมือ
    การต้ม เทน้ำลงไปพอให้น้ำท่วมยาเล็กน้อย (ประมาณ 3-4 แก้ว) ถ้าปริมาณยาที่ระบุไว้น้อยมาก เช่น ใช้เพียง 1 หยิบมือ ให้เทน้ำลงไป 1 แก้ว (250 ซี.ซี) ต้มให้เดือดนาน 10-30 นาที แล้วแต่ว่าต้องการเข้มข้นหรือเจือจาง รับประทานในขณะที่ยายังอุ่นๆ

ยาชง
    การเตรียม ปกติใช้ยมแห้งชง โดยหั่นต้นยาสดให้เป็นชิ้นเล็กๆ บางๆ ตากแดดให้แห้ง ถ้าต้องการให้ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว ให้เอาไปคั่วเสียก่อน จะมีกลิ่นหอม
   การชง ใช้สมุนไพร 1 ส่วน เติมน้ำเดือดลงไป 10 ส่วน ปิดฝาตั้งทิ้งไว้ 15-20 นาที

ยาดอง
    การเตรียม ปกติยาแห้งดอง โดยบดต้นสมุนไพรให้แหลกพอหยาบๆ ห่อด้วยผ้าขาวบาง ห่อหลวมๆ เผื่อยาพองตัวเวลาอมน้ำ
    การดอง เติมเหล้าให้ท่วมห่อผ้ายา ตั้งทิ้งไว้ 7 วัน

ยาปั้นลูกกลอน
    การเตรียม หั่นต้นสมุนไพรสดให้เป็นแว่นบางๆ ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผงในขณะที่ยังร้อน (เพราะแดด) อยู่ เพราะยาจะกรอบบดง่าย
    การปั้นยา ใช้ผงยา 2 ส่วน ผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อม 1 ส่วน ตั้งทิ้งไว้ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้ปั้นยาได้ง่าย ไม่ติดมือ ปั้นเป็นลูกกลมๆ เล็กๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ปั้นเสร็จผึ่งแดดจนแห้ง จากนั้นอีก 2 อาทิตย์ นำมาผึ่งแดดอีกที กันเชื้อราขึ้นยา
ตำคั้นเอาน้ำกินหรือดื่ม
โดยเอาต้นสมุนไพรสดๆ ตำให้ละเอียดจนเหลว ถ้าไม่มีน้ำให้เติมน้ำลงไปจนเหลว คั้นเอาน้ำยาที่ได้กิน ยาบางอย่าง เช่น กระทือ กระชาย ให้นำไปเผาให้สุกเสียก่อน จึงค่อยตำ

ยาพอก
    การเตรียมยา ใช้ต้นสมุนไพรสดตำให้แหลกที่สุด แต่อย่าตำจนยาเหลว ตำพอให้ยาเปียกๆ ก็พอ ถ้ายาแห้งให้เติมน้ำหรือเหล้าลงไป
    การพอก พอกแล้วต้องคอยหยอดน้ำให้ยาเปียกชื้นอยู่เสมอ เปลี่ยนยาวันละ 3 ครั้ง

วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

สารประกอบทางเคมีและเภสัชวิทยาของพืชสมุนไพร

สารประกอบทางเคมีในพืชสมุนไพร จำแนกได้เป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ


    Primary metabolite เป็นสารที่มีอยู่ในพืชชั้นสูงทั่วไป พบในพืชทุกชนิด เป็นผลิตผลที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) เช่น คาร์โบไฮเดรท ไขมัน โปรตีน เม็ดสี (pigment) และเกลือนินทรีย์ (inorganic salt) เป็นต้น
    Secondary metabolite เป็นสารประกอบที่มีลักษณะค่อนข้างพิเศษ พบต่างกันในพืชแต่ละชนิด คาดหมายว่าเกิดจากกระบวนการชีวะสังเคราะห์ (Biosynthesis) ที่มีเอนไซม์(enzyme) เข้าร่วม สารประกอบประเภทนี้มีอัลคาลอยด์ (Alkaloid) แอนทราควิโนน (Anthraquinone) น้ำมันหอมมันหอมระเหย (Essential oil) เป็นต้น

    ส่วนใหญ่สารพวก Secondary metabolite มีจะสรรพคุณทางยา แต่ก็มิได้แน่นอนตายตัวเสมอไป จากการวิจัยที่ผ่านมาพบว่าสารพวก Primary metabolite บางตัวก็ออกฤทธิ์ในการรักษาได้เช่นกัน และยังมีข้อสังเกตอีกว่าสารประกอบที่มีฤทธิ์ทางยาในพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง อาจมิใช่เพียงตัวเดียว อาจมีหลายตัวก็ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจที่ถ่องแท้ จึงจะสามารถสกัดสารที่มีฤทธิ์ทางยามาใช้ได้

    สารประกอบในพืชสมุนไพรมีมากมายหลายชนิด ในที่นี้จะกล่าวถึง บางตัวที่สำคัญเท่านั้น

    อัลคาลอยด์ (Alkaloid) อัลคาลยอด์ เป็นสารอินทรีย์ที่มีลักษณะเป็นด่าง และมีไนโตรเจน (nitrogen) เป็นส่วนประกอบ มีรสขม ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายได้ดีในตัวทำลายอินทรีย์ (organic solvent) เป็นสารที่พบมากในพืชสมุนไพร แต่ปริมาณสารจะต่างกันไปตามฤดูกาล สารประเภทนี้จะมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในหลายระบบ ตัวอย่างเช่น reserpine ในรากระย่อม สรรพคุณลดความดันเลือด สาร Quinine ในเปลือกต้นซิงโคนา (cinchona) มีสรรพคุณรักษาโรคมาเลเรีย และสาร morphine ในยางของผลฝิ่น มีสรรพคุณระงับอาการปวด เป็นต้น

    น้ำมันหอมระเหย (Volatile oil หรือ Essential oil) เป็นสารที่มีอยู่ในพืช มีลักษณะเป็นน้ำมันที่ได้จากการกลั่นตัวด้วยไอน้ำ (Steam distillation) มีกลิ่นรสเฉพาะตัว ระเหยได้ง่ายในอุณหภูมิปกติ เบากว่าน้ำ น้ำมันนี้เป็นส่วนผสมของสารเคมีหลายชนิด มักเป็นส่วนประกอบของพืชสมุนไพรที่เป็นเครื่องเทศ คุณสมบัติทางเภสัชวิทยา มักเป็นด้านขับลมและฆ่าเชื้อโรคและเชื้อรา (Flatulence และ antibacterial, antifungal) พบในพืชสมุนไพร เช่น กระเทียม ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด ไพร ขมิ้น เป็นต้น

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการปรุงยาไทย

ข้อควรเข้าใจโดยทั่วไป
1. ถ้าไม่ได้บอกว่าใช้สดหรือแห้ง ให้ถือว่าใช้สด
2. เวลาใช้ภายใน ถ้าไม่ได้ระบุวิธีใช้แล้ว ให้เข้าใจว่าใช้วิธีต้ม
3. เวลาใช้ภายนอก ถ้าไม่ได้ระบุวิธีใช้แล้ว ให้เข้าใจว่าใช้ตำพอก
4. ยากินหรือรับประทาน ให้กินหรือรับประทานวันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร
5. ยาต้ม ใช้ครั้งละ 1/2 - 1 แก้ว (250 ซี.ซี.)
ยาดอง, ยาคั้นเอาน้ำ ใช้ครั้งละ 1/2 - 1 ช้อนโต๊ะ
ยาผง ใช้ครั้งละ 1-2 ช้อนชา
ยาปั้น, ลูกกลอน ใช้ครั้งละ 1-2 เม็ด (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม.)
ยาชง ใช้ครั้งละ 1 แก้ว

วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2554

วิธีการเก็บส่วนที่ใช้เป็นยา

วิธีการเก็บส่วนที่ใช้เป็นยา

    ยาสมุนไพรเป็นส่วนประกอบที่ได้มาจากพืช สัตว์ หรือแร่ธาตุ ตัวยาที่มีอยู่ในพืชสมุนไพรจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่ที่สำคัญก็คือ "ช่วงเวลาที่เก็บยาสมุนไพร" การเก็บในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะมีผลต่อฤทธิ์การรักษาโรคของยาสมุนไพรได้ นอกจากคำนึงถึงช่วงเวลาในการเก็บยาเป็นสำคัญแล้ว ยังต้องคำนึงถึงว่าเก็บยาถูกต้องหรือไม่ ส่วนไหนของพืชที่ใช้เป็นยา เป็นต้น พื้นดินที่ปลูก อากาศ การเลือกเก็บส่วนที่ใช้เป็นยาอย่างถูกวิธีนั้น จะมีผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพของยาที่จะนำมารักษาโรค หากปัจจัยดังกล่าวเปลี่ยนไป ปริมาณตัวยาที่มีอยู่ในสมุนไพรก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย ทำให้ยานั้นไม่เกิดผลในการักษาโรคได้

หลักทั่วไปในการเก็บส่วนที่ใช้เป็นยาสมุนไพร แบ่งโดยส่วนที่ใช้เป็นยาดังนี้
    1. ประเภทรากหรือหัว เก็บในช่วงที่พืชหยุดเจริญเติบโต ใบ ดอก ร่วงหมด หรือในช่วงต้นฤดูหนาวถึงปลายฤดูร้อน เพราะเหตุว่าในช่วงนี้ รากและหัวมีการสะสมปริมาณของตัวยาไว้ค่อนข้างสูง
    2. ประเภทใบหรือเก็บทั้งต้น ควรเก็บในช่วงที่พืชเจริญเติบโตมากที่สุด หรือบางชนิดอาจระบุช่วงเวลาการเก็บชัดเจน เช่น เก็บใบไม้อ่อนหรือไม่แก่เกินไป (ใบเพสลาด) เก็บช่วงดอกตูมเริ่มบาน หรือช่วงที่ดอกบาน เป็นต้น การกำหนดช่วงเวลาที่เก็บใบ เพราะช่วงเวลานั้น ในใบมีตัวยามากที่สุด วีธีการเก็บใช้วิธีเด็ด ตัวอย่างเช่น กระเพรา ขลู่ ฝรั่ง ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น
    3. ประเภทเปลือกต้นและเปลือกราก เปลือกต้นโดยมากเก็บระหว่างช่วงฤดูร้อนต่อกับฤดูฝน ปริมาณยาในพืชสูงและลอกออกง่าย สำหรับการลอกเปลือกต้นนั้น อย่าลอกเปลือกออกทั้งรอบต้น เพราะกระทบกระเทือนในการส่งลำเลียงอาหารของพืช อาจทำให้ตายได้ ทางที่ดีควรลอกจากส่วนกิ่งหรือแขนงย่อย ไม่ควรลอกจากลำต้นใหญ่ของต้นไม้ หรือจะใช้วิธีลอกออกในลักษณะครึ่งวงกลมก็ได้ ส่วนเปลือกราก เก็บในช่วงต้นฤดูฝนเหมาะที่สุด เนื่องจากการลอกเปลือกต้นหรือเปลือกรากเป็นผลเสียต่อการเจริญเติบโตของพืช ควรสนใจวิธีการเก็บที่เหมาะสม
    4. ประเภทดอก โดยทั่วไปเก็บในช่วงดอกเริ่มบาน แต่บางชนิดเก็บในช่วงดอกตูม เช่น กานพลู เป็นต้น
    5. ประเภทผลและเมล็ด พืชสมุนไพรบางอย่างอาจเก็บในช่วงที่ผลยังไม่สุกก็มี เช่น ฝรั่ง เก็บผลอ่อน ใช้แก้ท้องร่วง แต่โดยทั่วไปมักเก็บตอนผลแก่เต็มที่แล้ว ตัวอย่างเช่น มะแว้งต้น มะแว้งเครือ ดีปลี เมล็ดฟักทอง เมล็ดชุมเห็ดไทย เมล็ดสะแก เป็นต้น
    นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ตามการถ่ายทอดประสบการณ์ของแพทย์ไทยโบราณนั้น ยังมีการเก็บยาตามฤดูกาล วัน โมงยาม และทิศอีกด้วย เช่น ใบควรเก็บในตอนเช้าวันอังคาร ฤดูฝนทางทิศตะวันออก เป็นต้น อย่างไรก็ตามในที่นี้ขอแนะนำให้ใช้หลักการเก็บส่วนที่ใช้เป็นยาสมุนไพรข้างต้น นอกจากนี้ท่านผู้ศึกษาการเก็บและการใช้สมุนไพร สามารถเรียนรู้ได้จากหมอพื้นบ้านที่อยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งมีประสบการณ์เก็บยาและการใช้ยามาเป็นเวลาช้านาน

    วิธีการเก็บสมุนไพรที่ถูกต้องเหมาะสมนั้น โดยทั่วไปไม่มีอะไรสลับซับซ้อน ประเภทใบ ดอก ผล ใช้วิธีเด็ดแบบธรรมดา ส่วนแบบราก หัว หรือเก็บทั้งต้น ใช้วิธีขุดอย่างระมัดระวัง เพื่อประกันให้ได้ส่วนที่เป็นยามากที่สุด สำหรับเปลือกต้นหรือเปลือกราก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของต้นพืช ดังนั้นจึงควรสนใจวิธีการเก็บดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

    คุณภาพของยาสมุนไพรจะใช้รักษาโรคได้ดีหรือไม่นั้น ที่สำคัญอยู่ที่ช่วงเวลาการเก็บสมุนไพร และวิธีการเก็บ แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ยังต้องคำนึงถึงอีกอย่างคือ พื้นที่ปลูก เช่น ลำโพง ควรปลูกในพื้นดินที่เป็นด่าง ปริมาณของตัวยาจะสูง สะระแหน่หากปลูกในที่ดินทราย ปริมาณน้ำมันหอมระเหยจะสูง และยังมีปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโต ภูมิอากาศ เป็นต้น ต่างก็มีผลต่อคุณภาพสมุนไพรทั้งนั้น ดังนั้นเราควรพิจารณาหาข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน ก่อนที่จะเก็บยาสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรค

วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประโยชน์ของการใช้ยาสมุนไพร

ประโยชน์ของการใช้ยาสมุนไพร


1. ราคาถูกกว่ายาแผนใหม่ (ยาแผนปัจจุบัน) มาก
2. มีพิษและผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแผนใหม่
3. สมุนไพรบางชนิดเป็นทั้งอาหารและยาด้วย
4. ไม่ต้องซื้อหา สามารถปลูกได้เองในบ้าน
5. เหมาะกับคนส่วนใหญ่ เพราะสามารถนำมาใช้ได้เอง เมื่อรู้จักวิธีใช้
6. ช่วยลดดุลย์การค้า ในการสั่งยาจากต่างประเทศ
7. ทำให้คนเห็นคุณค่า และกลับมาดำเนินชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น
8. ทำให้เกิดความภูมิใจ ในวัฒนธรรม และคุณค่าของความเป็นไทย


เพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกไทยในการสนับสนุนให้ประชาชนช่วยตนเองในการใช้ยาสมุนไพรตามแบบแผนโบราณ

วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สิ่งน่ารู้เกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพร

สิ่งน่ารู้เกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพร

    1. ควรเริ่มใช้สมุนไพรที่เป็นอาหารก่อน และควรรู้พิษยาก่อนใช้ รู้ข้อห้ามใช้ เพราะยาบางชนิดมีข้อห้ามใช้กับคนบางคน บางโรค เมื่อรู้สิ่งเหล่านี้ จะทำให้การใช้ยาปลอดภัยขึ้น
    2. ถ้ายาใดไม่เคยกินมาก่อน ควรเริ่มกินในขนาดน้อยๆ ก่อน เช่น กินเพียงครึ่งหนึ่งของขนาดที่กำหนดไว้ ถ้าร่างกายไม่มีอะไรผิดปกติจึงค่อยกินต่อไป
    3. อย่าใช้ยาเข้มข้นเกินไป เช่น ยาใช้ต้มกินต่างน้ำ ไม่ควรใช้ต้มเคี่ยวกินยาเข้มข้นเกินไป จนทำให้เกิดพิษได้
    4. คนที่อ่อนเพลียมาก เด็กอ่อน คนชรา ห้ามใช้ยามาก เพราะคนเหล่านี้ มีกำลังต้านทานยาน้อย จะทำให้เกิดพิษได้ง่าย
โดยทั่วๆ ไป เมื่อกินยาสมุนไพรแล้ว 1 วัน อาการไม่ดีขึ้นต้องเปลี่ยนยา แต่ถ้าเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคกระเพาะ หืด ฯลฯ เมื่อใช้ยาสมุนไพร 1 อาทิตย์แล้ว อาการไม่ดีขึ้นต้องเปลี่ยนยา

วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พืชสมุนไพร

    พืชสมุนไพร เป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมานับพันปี แต่เมื่อการแพทย์แผนปัจจุบันเริ่มเข้ามามีบทบาทในบ้านเรา สรรพคุณและคุณค่าของสมุนไพรอันเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าภูมิปัญญาโบราณก็เริ่มถูกบดบังไปเรื่อยๆ และถูกทอดทิ้งไปในที่สุด

    ความจริงคนส่วนใหญ่ก็พอรู้ๆ กันว่า สมุนไพรไทยเป็นสิ่งที่มีคุณค่าใช้ประโยชน์ได้จริง และใช้ได้อย่างกว้างขวาง แต่เป็นเพราะว่าเราใช้วิธีรักษาโรคแผนใหม่มานานมากจนวิชาแพทย์แผนโบราณที่มีสมุนไพรเป็นยาหลักถูกลืมจนต่อไม่ติด
    ภาครัฐเริ่มกลับมาเห็นคุณค่าของสมุนไพรไทยอีกครั้งด้วยการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2535 ว่า " ให้มีการผสมผสานการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเข้ากับระบบบริการสาธารณสุขของชุมชนอย่างเหมาะสม"
    บทความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งในคำนำของหนังสือ "สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด" ซึ่งเภสัชกรหญิงสุนทรี สิงหบุตรา เภสัชกรด้านเภสัชสาธารณสุข หัวหน้าฝ่ายวิชาการ กองเภสัชกรรม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้รวบรวมและเรียบเรียง ได้บันทึกไว้ ซึ่งต่อมาทางสำนักอนามัยฯ ได้นำหนังสือดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อใช้ประโยชน์ในงานของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ การนี้ ทางโครงการฯ เห็นว่าเนื้อหาในหนังสือมีคุณค่าและให้ประโยชน์กับผู้ที่ร่วมงานกับโครงการฯ รวมถึงบุคคลทั่วไป จึงได้นำขึ้นเผยแพร่ในเวบไซต์โครงการฯ
    จึงหวังว่าผู้ที่เข้ามาหาข้อมูลและได้อ่านเรื่องต่างๆ ในเวบไซต์นี้คงได้รับความรู้และอาจนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองหรือบุคคลรอบข้างได้ไม่มากก็น้อย..